ความเป็นมาของจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ
(1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชน มีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุข และประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการ และประสานการปฏิบัติ เพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบาย และสมพระเกียรติ
(2) ในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิต เป็นการทำความดีด้วยหัวใจถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร..
..โดยหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ร่วมกับประชาชนจิตอาสา “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์กษัตริย์” ร่วมกันดูแลและพัฒนารักษาพื้นที่จากชุมชนเล็กๆ รอบพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ขยายผลสู่พื้นที่โดยรวมของประเทศในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
(3) ความหมายของจิตอาสา “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในและต่างประเทศที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่นยอมเสียสละเวลาแรงกายแรงใจ และสติปัญญาในการทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆจิตอาสาตามพระราโชบาย จำแนกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
3.1 จิตอาสาพัฒนา : ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข ฯลฯ
3.2 จิตอาสาภัยพิบัติ : ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวม และการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าว เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น
3.3 จิตอาสาเฉพาะกิจ : ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จในโอกาสต่าง ๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาร่วมปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน รวมทั้ง การเตรียมสถานที่และการฟื้นฟูสถานที่ ภายหลังการปฏิบัติในพระราชพิธีและการเสด็จ ฯ นั้น ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย