หัวเมืองในสมัยก่อนไม่มีศาลากลางตั้งประจำสำหรับว่าราชการบ้านเมืองอย่างปัจจุบัน
เจ้าเมืองตั้งบ้านอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการที่บ้านของตน
มีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า
“ศาลากลาง”
เป็นที่ประชุมกรมการเวลามีงานและเป็นศาลชำระความ
การก่อสร้างเหล่านี้เจ้าเมืองต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินส่วนตัว
เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็เป็นมรดกของลูกหลาน
ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่
ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า
ต้องหาที่ศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้
ที่ว่าราชการเมืองที่ประจำพึ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว
ที่ว่าราชการเมืองตรังเดิมก็ลักษณะดังกล่าว
ผู้คิดสร้างศาลาว่าราชการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก คือ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ซึ่งออกมากำกับราชการหัวเมืองภาคใต้ฝั่งตะวันตก เมื่อราว ๆ
พ.ศ. 2421 สมัยเมืองอยู่ที่ควนธานี
ศาลาว่าการเมืองที่สร้างเรียกว่า Government House
แต่สร้างไม่ทันเสร็จ สมเด็จเจ้าพระยาฯ
ก็ถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ใน พ.ศ. 2425
สมัยพระยารัษฎาฯ
สร้างเมืองที่กันตัง
ก็ได้เลือกที่สร้างศาลาว่าการเมืองบนควนลูกหนึ่ง
ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ตั้งศาลาประชาคมอำเภอ
ต่อมาเมื่อย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ทับเที่ยง เมื่อวันที่ 1
มกราคม 2458 ระยะแรกได้อาศัยตำหนักผ่อนกาย
เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดชั่วคราว
ซึ่งเวลานี้เป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ
เมื่อถึงสมัยพระราชโยธา
(เจิม ปันยารชุน) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
(ต่อมาได้เป็นพระยาตรังค-ภูมาภิบาล)
บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งมาทำเหมืองแร่ในจังหวัดตรัง
ได้บริจาคเงินจำนวน 20,000 บาท
ให้สำหรับก่อสร้างศาลากลางจังหวัด ดังนั้นในปี พ.ศ. 2461
จึงเริ่มการก่อสร้างในสถานที่ใหม่ ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ
นายไซ ถนัดสร้าง เป็นช่างจากภูเก็ต
ผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ หลวงฤทธามาตย์ ปลัดจังหวัด
สัญญาที่ทำกับผู้รับเหมากำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน
ภายหลังเกิดขัดข้องด้านการจัดหาอุปกรณ์
เพราะเวลานั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก
จึงได้ยืดเวลาให้ผู้รับเหมาอยู่ 2 ครั้ง
ในที่สุดก็สร้างเสร็จ และเปิดที่ทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม
2463 ศาลากลางจังหวัดตรังหลังนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยาว
60 เมตร กว้าง 15 เมตร หลังคามีมุขกลางกับมุขข้าง
จากนั้นมาจนถึงปี พ.ศ. 2507
ความเจริญของจังหวัดก้าวหน้าไปมาก
ศาลากลางเรือนไม้ที่สร้างมาก็ชำรุดทรุดโทรมหนัก
เพราะใช้เป็นสถานที่ราชการนานถึง 44 ปี
หากได้รับงบประมาณแผ่นดินมาซ่อมแซมผลที่ได้จะไม่คุ้มค่า
ประกอบกับความเจริญทางถาวรวัตถุและสิ่งก่อสร้างในจังหวัดตรังเพิ่มขึ้นรอบด้าน
ควรจะได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นให้ทันสมัย
กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศ
และความเจริญที่เกิดขึ้นจังหวัดจึงได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี
พ.ศ. 2507 เพื่อก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่
ภายในวงเงินงบประมาณอนุมัติ 3,000,000 บาท
โดยนำแปลนศาลากลางจังหวัดระนองมาดัดแปลงเข้ากับแบบแปลนของจังหวัดตรัง
รูปทรงอาคารเป็น 2 ชั้น มีอาคารชั้น 3 ขึ้นที่มุขกลาง
ด้านหน้าตึกเป็นดาดฟ้ามุขรถลอดชั้นเดียว
ยื่นออกไปจากแนวอาคาร 6 เมตร พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2508
รวมระยะเวลาการก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน 20 วัน
นับเป็นศาลากลางจังหวัดแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อสร้างตามแบบแปลนผสม
หลังจากนั้นจึงได้มีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 10 เมษายน
2508
ในปี พ.ศ. 2539 สมัย
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณ 112,400,000 บาท
สำหรับการก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่
เป็นอาคารคอนกรีต สูง 5 ชั้น เชื่อมต่อกับอาคารหลังเดิม
และปรับปรุงซ่อมแซมหลังเดิมไปพร้อมกัน
มีห้างหุ้นส่วนจำกัดตรังทองค้าไม้เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง
สัญญาเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539
และทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2540 เวลา
09.39 น. (ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู
ราศีกรกฎ ราชาฤกษ์)
ระหว่างการก่อสร้างพอดีตรงกับช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย
เป็นเหตุให้ต้องหยุดชะงักชั่วคราว
การก่อสร้างจึงล่าช้ากว่ากำหนด ในสมัย นายเฉลิมชัย
ปรีชานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
ได้เปลี่ยนแปลงให้บริษัทนาวินคอนสตรัคชั่น จำกัด
เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแทน ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2542
และได้ทำพิธียกพระครุฑพ่าห์ ขึ้นติดตั้งด้านหน้าอาคารฯ
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2543 เวลา 08.19
(ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง โจโรฤกษ์)
การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544
เนื่องจากด้านหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่ไม่มีมุขหน้า
ทำให้ขาดความสวยงาม ไม่สะดวกในการเข้า –ออก ของเจ้าหน้าที่
และการติดต่อราชการของประชาชน ดังนั้น นายเฉลิมชัย
ปรีชานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
จึงได้กำหนดแบบต่อเติมมุขหน้า
และบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่เพิ่มเติม
พร้อมทั้งดำเนินการหาเงินสมทบในการสร้าง จำนวน 3,380,000
บาท ซึ่งได้มาจากการจัดกิจกรรมต่างๆ
และผู้มีจิตศรัทธามอบสมทบ
โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดินแต่ประการใดเลย
ต่อมาจังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2544 เพิ่มเติมอีก
3,580,000 บาท สำหรับปรับปรุงบริเวณ เช่น รั้ว
ห้องโถงด้านหน้า ป้ายประชาสัมพันธ์ กำแพงหินด้านศาลจังหวัด
ทางเท้า ระบบลิฟท์ สวนหย่อมด้านหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง
หลังเก่า ฯลฯ การก่อสร้างได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ
เพิ่มความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน
เป็นอาคารที่สวยงาม เป็นที่ชื่นชมของชาวตรัง
ตลอดจนชาวต่างจังหวัดที่มาเยือนเมืองตรัง
และได้กำหนดทำพิธีเปิดอาคารใหม่ฯ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2545
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ร.ต.อ.ปุระชัย
เปี่ยมสมบูรณ์) เป็นประธานพิธีเปิด