วันนี้ (14 มี.ค. 68) ที่หอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลสิเกา อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลสิเกา บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวช โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายอำเภอสิเกา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิเกา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัษฎา เข้าร่วม
สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มุ่งเน้นการช่วยเหลือด้วยกลไกสาธารณสุข แทนการดำเนินคดีทางอาญา โดยถือว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดรักษา พัฒนาคุณภาพชีวิต และกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง จึงได้ขยายบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยการจัดตั้ง มินิธัญญารักษ์ ในโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดตรัง รวมทั้งโรงพยาบาลสิเกา เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบบริการด้านยาเสพติด ให้สามารถบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด ในมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูอย่างเบ็ดเสร็จแบบใกล้บ้านและให้การดูแลบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่บำบัดรูปแบบผู้ป่วยนอกไม่สำเร็จ เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางจิตหรือที่มีอาการทางจิตคงที่ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง รูปแบบการบำบัดเป็นแบบระยะกลางระยะ 28 วัน (Intermediate care)
โรงพยาบาลสิเกาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 48 เตียง ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด มีการปรับปรุงสถานที่ อาคารผู้ป่วยในสามัญ พร้อมเปิดบริการมินิธัญญารักษ์ ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด ตามระดับ ความรุนแรงของอาการผู้ป่วยโดยผู้ป่วยและญาติยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยรูปแบบระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน ระยะเวลาประมาณ 3 - 7 วัน หรือตามดุลพินิจของแพทย์ จำนวน 3 เตียง และรูปแบบระยะกลาง ระยะเวลา 14 – 28 วัน จำนวน 41เตียง ในปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธัญญารักษ์ ปี 2568 และเขตสุขภาพที่ 12 ปรับปรุงตึกผู้ป่วยสามัญ เป็นหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ เพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวช จากการใช้ยาเสพติด จากการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยตามแนวทางศรีตรังโมเดล มีความพร้อมรับผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ 2568 เป็นต้นมา มีกิจกรรมบำบัดการดูแลด้านร่างกายและจิตใจ มีการบำบัดในระยะถอนพิษยาสัปดาห์แรก บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย กิจกรรมให้ความรู้ สุขภาพจิตศึกษาเกี่ยวกับโรคสมองติดยาการสร้างแรงจูงใจให้เลิกยาเสพติด การให้การปรึกษารายบุคคลและรายกลุ่มการบำบัดความคิดอารมณ์และพฤติกรรม กิจกรรมทางเลือก การสอน ทักษะชีวิต รวมทั้งวางแผนการจำหน่ายและติดตามดูแลต่อเนื่องในชุมชน มีการจัดบริการในรูปแบบ One Stop Service เพื่อการดูแลช่วยเหลือด้านต่างๆรับดูแลต่อเนื่อง หลังพ้นภาวะวิกฤต/ระยะถอนพิษยา ที่ต้องการการดูแลทางด้านกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์ตรัง โรงพยาบาลธัญญารักษ์และโรงพยาบาลจิตเวช ภายใต้ระบบบริหารจัดการ การดูแลแบบไร้รอยต่อ ภายในจังหวัดและบูรณาการการดูแลร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้านได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพิทักษ์สิทธิของผู้ป่วยจนสามารถส่งผู้ป่วยคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ