วันนี้ (18 มี.ค. 68) ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานถวายราชสักการะฯ และกล่าวถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2568 โดยมี พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี
สำหรับวันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันท้องถิ่นไทย จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมเป็น "สุขาภิบาลท่าฉลอม" ในวันที่ 18 มีนาคม 2448 (ร.ศ.124) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อันนำไปสู่การวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทางคณะรัฐมนตรี จึงมีมติในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ประกาศให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันท้องถิ่นไทย ตามประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า "สุขาภิบาลกรุงเทพ" โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศ หลังจากนั้น 8 ปีคือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็น "สุขาภิบาล" เรียกว่า "สุขาภิบาลท่าฉลอม" ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล "หัวเมือง" แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ "เทศบาลนครสมุทรสาคร" สำหรับเหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง เล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ จังหวัดตรัง ขอร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน และเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้