วันนี้ (31 มี.ค. 68) นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เนื่องใน "วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า" ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ปลัดจังหวัดตรัง นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทุกสังกัดกระทรวงเข้าร่วมงานรัฐพิธีฯ ในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ณ หอประชุมโรงเรียนวิเชียรมาตุ อ.เมืองตรัง จ. ตรัง
เนื่องในมหามงคลสมัย วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาเจษฎาราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระบรมราชคุณูปการแก่ประเทศและประชาชนเป็นล้นพ้นที่จะพรรณนาได้ เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น บ้านเมืองเริ่มเผชิญปัญหาด้านสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในยุโรปและอเมริกา แต่ด้วยพระปรีชาญานอันสุขุมลึกซึ้งได้ผ่อนปรนมิให้กระทบกระเทือนทั้งผลประโยชน์ของประเทศและสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ได้ทำนุบำรุงการพาณิชย์นาวี และมีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง รายได้หลั่งไหลเข้ามาเป็นงบประมาณบำรุงแผ่นดินเต็มที่ ข้าราชการได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนเป็นครั้งแรก ทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศและได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามที่สร้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 ซึ่งร่วงโรยลงตามกาลเวลา
สำหรับพระอารามใหม่ที่ทรงสร้างซึ่งมีลักษณะศิลปกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่มากกว่า 30 พระอาราม ซึ่งล้านแต่งดงามวิจิตรเป็นศรีสง่าแก่พระนคร ทรงสร้างคัมภีร์พระไตรปิฏกอันเป็นหัวใจของการศึกษาพระธรรมบท กำหนดให้พระเปรียญนักธรรม สอบเพื่อส่งเสริมให้มีพระเถระที่ทรงคุณวุฒิสูง ประดับเป็นอาภรณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา ปรากฏว่าพระศาสนารุ่งโรจน์แพร่ขยายไปสู่ดินแดนพระพุทธศาสนา ในประเทศศรีลังกาด้วย ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นความเจริญของบ้านเมืองและประชาชน จึงโปรดให้จารึกความรู้นานาชนิดไว้ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ทั้งวิชาวรรณคดี ตำรายา โหราศาสตร์ การช่าง ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาอย่างกว้างขวาง จนกล่าวกันว่า วัดโพธิ์ คือ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ในส่วนการบำรุงรักษาความมั่นคงของประเทศนั้นทรงยึดหลักการ รักษาศักดิ์ศรีของประเทศเป็นสำคัญ
ดังนั้นพระองค์จึงทรงทุ่มเทป้องกันข้าศึกที่แผ่อิทธิพลเข้ามาทำลายความสงบสุขภายในหัวเมืองในพระราชอาณาเขต ด้วยการส่งกองทัพไปปราบปรามทำให้ข้าศึกระย่อหยุดยั้งลง การศึกแม้จะยืดเยื้อเนิ่นนานแต่ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจในรัชสมัยได้จัดระเบียบไว้อย่างเรียบร้อย จึงมิได้กระทบกระเทือนสถานภาพการเงินของประเทศทรงทำลายฝิ่น ซึ่งเป็นยาเสพติดร้ายแรงในสมัยนั้นให้หมดไปจากประเทศ เพื่อป้องกันพสกนิกรให้รอดพ้น จากความหายนะ อันเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยแผ่นดินล้นพ้นสุดที่จะคณานับได้ พระราชทานเสรีภาพให้หมู่พระบรมราชวงศ์ มุขอำมาตย์ ข้าราชการ เลือกสรรอัญเชิญ ผู้ที่เหมาะสมสืบราชสันตติวงศ์ ทรงจัดสรรพระราชทรัพย์ พระราชทานไว้ทำนุบำรุงพระอารามที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จ